หลายปีที่ผ่านมา ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีการปลูกหอมแดงกันมากมาย เริ่มจากชาวลับแลซึ่งก็ปลูกมาหลายสิบปี ทำรายได้ให้กับชาวสวนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนต้องขยายพื้นที่ปลูกออกมาเขตอำเภอต่างๆ เช่น พื้นที่ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง และก็ไล่เรียงกันไปหลายแห่ง จนชาวบ้านอีกหลายพื้นที่เปลี่ยนแปลงอาชีพการเกษตรของตนมาปลูกหอมแดงกันยกใหญ่ คงเป็นเพราะเห็นผลมีเงินได้ในระยะเวลาแค่ 2-3 เดือน ทำรายได้ปีหนึ่ง 2-3 รอบ ถ้าขยันและรู้แหล่งที่มีศักยภาพ ในปีนี้อำเภอน้ำปาด อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ปลูกหอมแดงกันมาก จนหวั่นๆ กันเรื่องราคา กลัวว่าจะควบคุมไม่ให้ต่ำไม่ไหว แต่ในเมื่อเป็นความพึงพอใจและพร้อมในการผลิตของเกษตรกร ก็เชื่อว่าคงจะไม่เกิดวิกฤติด้านราคา
หอมแดง หรือที่หลายคนเรียก หัวหอม หอมแกง หัวหอมไทย หัวหอมเล็ก หรือหอมบั่ว ภาษาอาเซียนเรียกต่างกันไป เช่น เวียดนาม เรียก “แห่งกู๋” เมียนมา เรียก “แจ้ด-ฏุ่น-หนี่-เฏ” กัมพูชา ภาษาเขมรเรียก “ขตึม กรอ หอม” เป็นต้น หอมแดงหรือหัวหอมเป็นพืชเก่าแก่ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดที่เมืองเอสคาลอน ประเทศซีเรีย มีปลูกกันเริ่มต้นที่จีน อินเดีย อียิปต์ ก่อน แล้วแพร่หลายไปทั่วโลก ชาวโรมันนำเข้าทางเหนือของยุโรป พวกไวกิ้งนำเข้าอเมริกา เรียกหอมว่า “ชิกากู” แปลว่า กินอร่อย มีเมืองหนึ่งในอเมริกาที่ปลูกหอมมาก จึงชื่อว่า “ชิคาโก” และแพร่หลายถึงประเทศไทยมานานมากแล้ว
หอมแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum Linn. เป็นพืชผักล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัวสะสมอาหาร เป็นหัวประเภทบัลบ์ (Bulb) เกิดจากลำต้นใต้ดิน (Rhizome) เป็นแกนสามเหลี่ยมสั้นๆ ตรงฐานของหัว ซึ่งคือลำต้นจริง ทางพฤกษศาสตร์ มีข้อปล้องและตา แต่เล็กมาก มีกาบใบออกเรียงซ้อนกันแน่น เกิดจากข้อเล็กๆ กาบใบนั้นเป็นที่สะสมอาหารที่พองกลม เรียกว่า หัว ตรงปลายหัวมีจุดเจริญพร้อมจะโผล่ออกเป็นใบและช่อดอก หัวหอม เรียกว่า “บัลบ์” (Bulb) แปลว่า “กระเปาะ” ใบหอมเมื่องอกจากหัวขึ้นมาเป็นลักษณะหลอดกลม กลวง คล้ายหลอดกาแฟ เห็นไหมว่าลักษณะของใบหอมมีคนนำไปเรียกลักษณะอาการของโรคข้าวที่เกิดจากแมลงบั่วระบาด คือ “โรคหลอดหอม” และมีบางถิ่นเรียกหอมแดงว่า “หอมบั่ว” อย่างไงล่ะท่าน